3,616 view

การลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

1.
ภาพรวม
1.1
สหประชาชาติก่อตั้งขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งซึ่งระบุไว้ในกฏบัตรสหประชาชาติอย่างชัดเจนคือ เพื่อธำรงสันติภาพและป้องกันไม่ให้เกิดสงครามหรือความขัดแย้งขึ้นมาอีก ดังนั้น งานด้านการลดอาวุธจึงเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่สหประชาชาติให้ความสำคัญและรัฐสมาชิกทั้งมวลเห็นพ้องกันที่จะร่วมมือเพื่อดำเนินงานต่าง ๆ อันจะนำไปสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
1.2
ข้อมติแรกที่ได้รับการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ และมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อเสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) และรัฐสมาชิกดำเนินการเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติเท่านั้นและขจัดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอื่นใดที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงออกจากคลังสรรพาวุธ
1.3
ในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ไทยให้ความสำคัญในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการลดและไม่แพร่อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง อันได้แก่ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมี
2.
อาวุธนิวเคลียร์
2.1
สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation of Nuclear Weapons Treaty หรือ NPT) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2513 (ค.ศ. 1970) และได้รับการต่ออายุแบบถาวร (indefinite extension) เมื่อปี 2538 (ค.ศ. 1995) ระหว่างการประชุมทบทวนครั้งที่ 5 ปัจจุบันมีรัฐภาคีทั้งสิ้น 188 ประเทศ และผู้สังเกตการณ์ 2 ประเทศ (รัฐวาติกันและปาเลสไตน์) โดยประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคี ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเซาท์ซูดาน ส่วนเกาหลีเหนือถอนตัวจาก NPT เมื่อปี 2546 (ค.ศ. 2003)
2.2
ไทยได้เข้าเป็นภาคีของ NPT เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2515 (ค.ศ. 1972) และปฏิบัติตามพันธกรณีของ NPT อย่างเคร่งครัด โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นหน่วยงานหลักระดับชาติในการดำเนินการตาม NPT
2.3
สาระสำคัญของ NPT แบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่
(1) การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์   ห้ามรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Weapon State หรือ NWS) ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน ส่งหรือช่วยให้ประเทศอื่น ผลิต หรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และห้ามรัฐที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Nuclear Weapon State หรือ NNWS) รับ แสวงหา หรือขอความช่วยเหลือในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และให้ NNWS จัดทำความตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (Safeguards Agreement) กับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ว่าจะไม่นำพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติไปดัดแปลงใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์
(2) การลดอาวุธนิวเคลียร์   ให้รัฐสมาชิกหารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อยุติการแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง
(3) การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ   รัฐภาคีมีสิทธิในการพัฒนา วิจัย ผลิต และใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วยวัตถุประสงค์ทางสันติ แต่ต้องเป็นไปตามหลักการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
2.4
NPT มักถูกประเทศกำลังพัฒนาโจมตีว่าเลือกประติบัติและไม่เท่าเทียม เพราะมีการแบ่งความรับผิดชอบที่แตกต่างกันระหว่างประเทศที่มีและไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ โดยประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้สละสิทธิที่จะผลิต ครอบครอง หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ตามพันธกรณีของสนธิสัญญาฯ แล้ว ในขณะที่ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 5 ประเทศ (จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร) ยังมิได้เริ่มดำเนินการเจรจาเพื่อลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ที่ตนครอบครองอยู่ตามข้อบทที่ 6 ของสนธิสัญญาฯ อย่างจริงจัง
2.5
การประชุมทบทวน NPT เป็นกลไกการประชุมหลักของรัฐภาคี NPT จัดทุก 5 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ผ่านมา และกำหนดแนวทางปฏิบัติในอนาคตสำหรับ 5 ปีข้างหน้า โดย แบ่งเป็น 3 คณะกรรมการหลัก คือ ได้แก่ (1) การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ (2) การพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และปัญหาในระดับภูมิภาค และ (3) การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ โดยแต่ละกรรมการมี subsidiary body เพื่อหารือประเด็นหลักที่สำคัญ
2.6
ท่าทีไทย
(1) ไทยสนับสนุนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ NPT ในทุกด้าน และความเป็นสากลของ NPT โดยเห็นว่า ควรเชิญชวนประเทศนอก NPT ให้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในความพยายามด้านการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ด้วย เพื่อให้ NPT มีประสิทธิผลและนำไปสู่การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงหรือโลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างแท้จริง
(2) การลดและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ควรดำเนินควบคู่กันไปอย่างมีความโปร่งใส โดยกระบวนการลดอาวุธของประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ควรมีกลไกที่ตรวจสอบได้ และการพัฒนานิวเคลียร์ของประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ควรมีกลไกการพิทักษ์ความปลอดภัยและตรวจพิสูจน์นิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ IAEA ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางเทคนิคด้านการตรวจพิสูจน์นิวเคลียร์
(3) ไทยสนับสนุนการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ NPT และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาค
3.
อาวุธชีวภาพ
3.1
อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ (Biological Weapons Convention: BWC) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Convention on the Prohibition of the Development, Production and Stockpiling of Bacteriological (Biological) and Toxin Weapons and on their Destruction” เปิดให้ลงนามเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2515 (ค.ศ. 1972) และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2518 (ค.ศ. 1975) โดย BWC เป็นตราสารระหว่างประเทศฉบับแรกที่ห้ามอาวุธที่มีอานุภาพทำลายสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) และครอบคลุมอาวุธทุกประเภทที่จัดเป็นอาวุธชีวภาพ ปัจจุบันมีรัฐภาคี 165 ประเทศและรัฐผู้ลงนามอีก 12 ประเทศ
3.2
ไทยเข้าเป็นภาคี BWC เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2518 โดยมีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักแห่งชาติ (national contact point) ของ BWC ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2547 (ค.ศ. 2004) นอกจากนี้ ยังมีส่วนราชการที่มีบทบาทและส่วนร่วมในการดำเนินการเนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ BWC โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ. เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมปศุสัตว์ ตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เป็นต้น
3.3
พันธกรณีที่สำคัญภายใต้ BWC ได้แก่ การห้ามจัดหาหรือครอบครองอาวุธชีวภาพ (Article I) การทำลายหรือแปรสภาพอาวุธไปใช้ในทางสันติ (Article II) การห้ามเคลื่อนย้ายถ่ายโอน (Article III) การวางมาตรการระดับชาติเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาฯ (Article IV) กระบวนการตรวจสอบการละเมิดอนุสัญญาฯ (Article VI) การให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ใช้อาวุธชีวภาพ (Article VII) และความร่วมมือและช่วยเหลือเพื่อการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพในทางสันติ (Article X)
3.4
การประชุมในกรอบ BWC ประกอบด้วย (1) การประชุมรัฐภาคี (Meeting of the States Parties) ในช่วงปลายปีของทุกปี (2) การประชุมผู้เชี่ยวชาญ (Meeting of Experts) ในช่วงกลางปีของทุกปี และ (3) การประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ (Review Conference) ทุก 5 ปี นอกจากนี้ มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และดำเนินกิจกรรมตามข้อริเริ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ BWC โดยรัฐภาคี องค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ ด้วยเป็นครั้งคราว
3.5
ท่าทีไทย
(1) ไทยไม่มีอาวุธชีวภาพในครอบครองและไม่มีแผนที่จะสร้างหรือสะสมอาวุธประเภทนี้ จึงมีความมุ่งมั่นและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีของ BWC โดยพัฒนากฎหมายและระเบียบต่าง ๆ สำหรับการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความร่วมมือและและปฏิบัติตามมาตรการและข้อกำหนดต่าง ๆ ของ BWC อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำเอกสารมาตรการความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence-Building Measures: CBMs) รวมถึงการเข้าร่วมการประชุมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนให้การสนับสนุนในเชิงวิชาการและเสริมสร้างขีดความสามารถระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น หลักสูตรอบรมด้าน Biosafety
(2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง มีการประสานงานระหว่าง BIOTEC กับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน สมาคมวิชาชีพ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย เพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ (biosafety and biosecurity) การฝึกอบรมและสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนมีคณะทำงานด้านอาวุธชีวภาพภายใต้คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (อปปส.) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วย
4.
อาวุธเคมี
4.1
อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Convention on the Prohibition of the Development, Production, Stockpiling and Use of Chemical Weapons and on their Destruction : CWC) ครอบคลุมพันธกรณีที่สำคัญ ได้แก่ (1) การห้ามรัฐภาคีใช้อาวุธเคมีในการทำสงคราม ห้ามพัฒนา ผลิต สะสม และให้ทำลายอาวุธเคมีที่มีในครอบครองก่อนการจัดทำ CWC (2) การควบคุมการผลิต ครอบครอง ขาย นำเข้า ส่งออก และส่งผ่านสารเคมีและสารที่อาจใช้ผลิตสารเคมีพิษตามที่ CWC กำหนด และ (3) การพิสูจน์ยืนยันคำประกาศของรัฐภาคี (Declarations) และตรวจสอบตามคำกล่าวหา (Challenge Inspections) ภายใต้ CWC
4.2
ไทยเข้าเป็นรัฐภาคี CWC เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 (ค.ศ. 2003) โดยมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบหลักภายใต้คณะกรรมการประสานงานแห่งชาติเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ (ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามมติคณะรัฐมนตรี) นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการห้ามอาวุธเคมี สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานระดับชาติ (National Authority: NA) เพื่อดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบคุมกำกับดูแลการใช้สารเคมีในประเทศ และประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
4.3
องค์การห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons: OPCW) ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 (ค.ศ. 1997) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีสถานะเป็นอิสระและมีข้อตกลงการร่วมดำเนินงานกับองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยกำหนดให้วันที่ 29 เมษายนของทุกปีเป็น ‘OPCW Day’ (วันที่อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2540) OPCW ดำเนินการตามวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างโลกปลอดอาวุธเคมี โดยมีภารกิจในการปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention: CWC) ซึ่งมีรัฐภาคี 190 ประเทศ ทั้งนี้ OPCW ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2556 (ค.ศ. 2013)
4.4
โครงสร้างการบริหารของ OPCW มีกลไกหลักคือการประชุมรัฐภาคี (Conference of States Parties: CSP) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม และกลไกการตัดสินใจระดับสูงคือ คณะมนตรีบริหาร (Executive Council: EC) ประกอบด้วยรัฐภาคี 41 ประเทศ พิจารณาสมาชิกตามหลักภูมิศาสตร์ และประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม การเมืองและความมั่นคง โดยประเทศที่ได้รับเลือกตั้งจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี ทั้งนี้ ไทยเคยเป็นสมาชิก EC ในวาระปี 2549-2551 นอกจากนี้ มี Technical Secretariat เป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อสนับสนุนงานของ CSP และ EC
3.5
ท่าทีไทย
(1) การปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) เป็นหลัก โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกระบวนการต่าง ๆ ของ OPCW มาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดทำคำประกาศแจ้งประจำปี (Annual Declarations) การตรวจสอบตามใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกซึ่งสารเคมี การรับตรวจตามคำประกาศ (Routine Inspections) และ Challenge Inspections เป็นต้น รวมทั้งจัดส่งบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมและการฝึกอบรมต่าง ๆ
(2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการกำกับดูแลวัตถุอันตราย (National Chemicals Inventory) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการนำเข้าส่งออกและเคลื่อนย้ายวัตถุอันตราย โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบควบคุมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
 
 
International_Day_against_Nuclear_Tests International_Day_for_the_Total_Elimination_of_Nuclear_Weapons_(1)  
Day_of_Remembrance_of_all_Victims_of_Chemical_Warfare_(1) International_Peace_Day