วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ก.ย. 2562

| 611 view

อาวุธตามแบบ / อาวุธขนาดเล็ก

อาวุธตามแบบ (Conventional weapons)

1.
อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention: APMBC)
1.1
ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หมายถึง อาวุธที่ได้รับการออกแบบให้ติดตั้งอยู่ใต้ บน หรือใกล้พื้นดิน หรือบริเวณพื้นผิวใด และเพื่อให้ระเบิดโดยการปรากฏ เข้าใกล้ หรือสัมผัสของบุคคล ส่งผลให้บุคคลหนึ่งคนหรือมากกว่า เกิดทุพพลภาพ บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเป็นอาวุธที่มีผลกระทบทางมนุษยธรรมสูง เนื่องจากตกค้างในสภาวะแวดล้อมได้นาน ไม่จำแนกแยกแยะเป้าหมายระหว่างทหารหรือพลเรือน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดตกค้างได้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น
1.2
ไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิด สังหารบุคคล (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) หรือเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) โดยลงนามอนุสัญญาฯ เมื่อปี 2540 ทำการให้สัตยาบันเมื่อปี 2541 และอนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับไทยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดยรัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ในสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ
1.3
ไทยมุ่งมั่นปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ อย่างแข็งขันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด อย่างไรก็ดี ตามบทบัญญัติในข้อ 5 ของอนุสัญญาฯ รัฐภาคีต้องดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในส่วนของตนให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี นับจากวันที่อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศนั้น ๆ โดยหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดขั้นต้นนี้ ก็สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาดำเนินงานพร้อมเหตุผลและแผนงานให้ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ พิจารณา
ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ เป็นภารกิจที่ใช้เวลา งบประมาณและความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคสูง กอปรกับปัจจัยและอุปสรรคอื่น ๆ ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นและทำให้การเก็บกู้ล่าช้าลงได้ เช่น การเกิดอุทกภัย หรือมรสุมที่มีการชำระหน้าดินจำนวนมาก และอาจทำให้มีการเคลื่อนจุดของทุ่นระเบิดใต้ผิวดิน เป็นต้น
1.4
ในส่วนของไทย ควรเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี นับจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา หรือภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด จึงได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ออกไป และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ให้ขยายระยะเวลาเก็บกู้ฯ ออกไปอีก9 ปีครึ่ง จนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 โดยการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังมีพื้นที่ที่ยังไม่สามารถดำเนินการเก็บกู้ได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณชายแดน ที่การเจรจาด้านเขตแดนยังไม่ยุติ
1.5
ไทยมีบทบาทโดดเด่นในกรอบอนุสัญญาฯ โดยดำรงตำแหน่งประธาน หรือสมาชิกในคณะกรรมการต่าง ๆ ของอนุสัญญาฯ มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ในปี 2559 ไทยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้านการ
ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และยังร่วมในคณะกรรมการคัดเลือก และสรรหาผู้อำนวยการฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ คนปัจจุบันอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ไทยได้ประกาศบริจาคเงินโดยสมัครใจแก่ฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ ปีละ 10,000 ฟรังก์สวิส ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ปี จนถึงปี
2562 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
23 กุมภาพันธ์ 2559
2.
อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions: CCM)
2.1
ระเบิดพวงเป็นระเบิดที่บรรจุลูกระเบิดขนาดเล็ก (sub-munitions) ไว้ภายในจำนวนมาก มีลักษณะ กลไก และรูปแบบการทำงานหลายแบบ วิธีการใช้สามารถทิ้งลงจากเครื่องบิน หรือยิงโดยปืนใหญ่จากพื้นดินสู่พื้นที่เป้าหมายและจะระเบิดกลางอากาศเพื่อปล่อยลูกระเบิดย่อยให้กระจายเป็นวงกว้าง โดยลูกระเบิดย่อยอาจระเบิดก่อน ระหว่าง หรือหลังจากปะทะกับเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ระเบิดพวงมีอัตราความคลาดเคลื่อนผิดพลาดจากเป้าหมายและไม่ระเบิดสูง ทำให้ลูกระเบิดขนาดเล็กตกค้างบนพื้นดิน บนคาคบไม้ หรือบริเวณอื่น ๆ และเป็นอันตรายกับประชาชนหลังสงคราม
2.2
กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสำคัญที่เกี่ยวกับระเบิดพวง คือ อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions: CCM) สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ คือ การห้ามใช้ ห้ามสะสม ห้ามผลิต และห้ามโอน รวมทั้งต้องทำลายระเบิดพวงที่มีในคลัง การเก็บกู้และทำลายระเบิดพวงที่ตกค้างอยู่ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากระเบิดพวง ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ แต่อนุสัญญาฯ ยกเว้นระเบิดพวงบางประเภทที่มีความแม่นยำต่อเป้าหมายและมีอัตราความเสี่ยงที่จะไม่ระเบิดหรือตกค้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม คำนิยามของระเบิดพวงมีความหลากหลาย แม้จะมีการระบุไว้ในอนุสัญญาฯ ด้วยแล้ว แต่ก็ไม่ครอบคลุมลักษณะของระเบิดพวงทั้งหมด
2.3
ปัจจุบัน ไทยยังไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ แต่ได้เข้าร่วมการหารือภายใต้กระบวนการจัดทำอนุสัญญา (กระบวนการออสโล) และสนับสนุนหลักการด้านมนุษยธรรมของอนุสัญญาฯ มาโดยตลอด รวมทั้ง ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้าน การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีฯ และการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ อย่างต่อเนื่องในฐานะผู้สังเกตการณ์
3.
สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty: ATT)
3.1
อาวุธตามแบบ (Conventional Weapons) นับเป็นอาวุธที่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลกปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และครอบครองอาวุธบางประเภทนี้ได้ โดยมีการใช้งานอาวุธตามแบบทั้งในด้าน การปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลต่าง ๆ การคุ้มครองตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการใช้งานที่ผิดกฎหมาย เช่น ใช้ก่ออาชญากรรม หรือก่อการร้าย เป็นต้น
3.2
อาวุธตามแบบสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ มากมาย และมีหลายขนาด นับตั้งแต่เครื่องบินรบ เรือรบ เฮลิคอปเตอร์โจมตี รถถัง ปืนใหญ่ ไปจนถึงอาวุธปืนทุกขนาด โดยรวม กล่าวได้ว่า
อาวุธตามแบบเป็นอาวุธที่มีการใช้งานแพร่หลายที่สุด มีการถ่ายโอน (ส่งออก นำเข้า นำผ่าน ถ่ายลำ) มากที่สุด และจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการลักลอบค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมายมากที่สุด อันปัจจัยเสริมความรุนแรงของอาชญากรรม การก่อการร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในหลายพื้นที่ทั่วโลก
3.3
โดยที่ยังไม่มีสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้า-ส่งออก ส่งผ่าน ถ่ายลำ ฯลฯ ก่อนหน้านี้ ประเทศต่าง ๆ จึงได้หารือกันถึงความจำเป็นในการเจรจาสนธิสัญญาเพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินการด้านการค้าอาวุธตามแบบ เพื่อป้องกันการลักลอบค้าอาวุธโดยผิดกฎหมาย นำไปสู่การจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty – ATT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การค้าอาวุธระหว่างประเทศมีความโปร่งใส ป้องกันการลักลอบค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมาย หรือเบี่ยงเบนปลายทางของอาวุธไปสู่ผู้ใช้ที่ไม่ได้รับอนุญาต มาตรการตามสนธิสัญญาฯ ที่สำคัญรวมถึงการสร้างระบบควบคุมและบันทึกข้อมูลในบัญชีควบคุมอาวุธตามแบบระดับชาติ การประเมินความเสี่ยงในการส่งออกและนำเข้าอาวุธตามแบบ การกำกับควบคุมการผ่านแดน การถ่ายลำ และการเป็นนายหน้าค้าอาวุธที่เกิดขึ้นในดินแดนของ แต่ละรัฐ
การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าอาวุธตามแบบระหว่างรัฐภาคี
3.4
สนธิสัญญาฯ ใช้บังคับกับอาวุธตามแบบ 8 ประเภท ได้แก่ (1) รถถัง (2) รถหุ้มเกราะ (3) ปืนใหญ่ (4) เครื่องบินรบ (5) เฮลิคอปเตอร์โจมตี (6) เรือรบ (7) จรวดและฐานยิงจรวด และ (8) อาวุธเล็กและอาวุธเบา นอกจากนี้ ยังครอบคลุมกระสุน เครื่องกระสุน และชิ้นส่วนและส่วนประกอบของอาวุธด้วย กิจกรรมการค้าอาวุธระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของสนธิสัญญาฯ ได้แก่ การส่งออก การนำเข้า การผ่านแดน การถ่ายลำ และการเป็นนายหน้า อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาฯ ไม่ใช้บังคับกับการเคลื่อนย้ายอาวุธไปยังต่างประเทศโดยรัฐภาคีเพื่อการใช้งานของตน ตราบใดที่อาวุธยังคงอยู่ในความครอบครองของรัฐนั้น โดยสนธิสัญญาฯ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557
3.5
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ไทยลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการร่วมมือกันส่งเสริมความโปร่งใสและการควบคุมการค้าอาวุธระหว่างประเทศ กอปรกับสารัตถะของสนธิสัญญาฯ ไม่ขัดกับกฎหมายภายในและผลประโยชน์แห่งชาติ ไทยจึงได้ลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ส่งผลให้ไทยมีสถานะเป็น รัฐผู้ลงนาม (Signatory State) ลำดับที่ 123
3.6
หลังการลงนาม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะผู้ประสานงานหลัก ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแปลสนธิสัญญาฯ เป็นภาษาไทย วิเคราะห์พันธกรณีต่าง ๆ ตามสนธิสัญญาฯ โดยละเอียด และประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือรัฐสภาพิจารณาให้สัตยาบันต่อไป
4.
อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด (Convention on the Prohibition of Certain Conventional Weapons: CCW)
4.1
อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย หรือ Convention on Prohibitions or Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to Be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects (CCW) หรือ Inhumane Weapons Convention มีจุดมุ่งหมายหลักในการจำกัดการใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงโดยไม่จำเป็นต่อพลรบและก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
โดยไม่แบ่งแยกต่อพลเรือน
4.2
อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดประกอบด้วยอนุสัญญาแม่บท และพิธีสาร แนบท้าย โดยอนุสัญญาแม่บทเป็นกรอบที่กำหนดขอบเขต การเข้าเป็นภาคี และสถานการณ์ที่อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ไว้อย่างกว้าง ๆ ส่วนพิธีสารแนบท้ายแต่ละฉบับจะกำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการใช้อาวุธ แต่ละชนิดในรายละเอียด ซึ่งการมีพิธีสารแยกตามชนิดของอาวุธดังกล่าวเป็นจุดเด่นของอนุสัญญา CCW ที่สะท้อนว่าอนุสัญญาฯ ยังเป็นกระบวนการที่มีพลวัต และมีความหยืดหยุ่น (flexibility) โดยสามารถริเริ่มจัดทำพิธีสารที่ตอบสนองความสนใจของประชาคมในด้านการควบคุมอาวุธ หรือการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านอาวุธใหม่ๆ ในอนาคตได้
4.3
ในปัจจุบัน อนุสัญญาฯ ประกอบด้วยพิธีสาร 5 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับมีเนื้อความเฉพาะเจาะจงห้ามหรือจำกัดการใช้อาวุธตามแบบ 5 ประเภท โดยรัฐภาคีอนุสัญญาฯ จะต้องเลือกรับพิธีสารแนบท้ายอนุสัญญาฯ ฉบับใดก็ได้ อย่างน้อยจำนวน 2 ฉบับ จากทั้งหมด 5 ฉบับ ดังนี้
(1) พิธีสารฉบับที่ 1 - อาวุธใดก็ตามที่มีผลเบื้องต้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ซึ่งเมื่อสะเก็ดนั้นอยู่ในร่างกายแล้วไม่อาจตรวจพบได้โดยการเอกซ์เรย์ (non-detectable fragments)
(2) พิธีสารฉบับที่ 2 - ทุ่นระเบิด (ทั้งประเภทสังหารบุคคล ต่อต้านยานพาหนะและแสวงเครื่อง) กับระเบิด และอุปกรณ์ระเบิดอื่น ๆ (mines, booby traps and other devices)
(3) พิธีสารฉบับที่ 3 - อาวุธเพลิง (incendiary weapons)
(4) พิธีสารฉบับที่ 4 - อาวุธแสงเลเซอร์ที่มีผลทำให้ตาบอดถาวร (blinding laser weapons)
(5) พิธีสารฉบับที่ 5 - วัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงคราม (explosive remnants of war)
4.4
ไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ แต่ได้เข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ ในภาพรวม ไทยสนับสนุนวัตถุประสงค์และการดำเนินการควบคุมการใช้อาวุธต่าง ๆ ในกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งบางส่วนมีเนื้อหาทับซ้อนกับอนุสัญญา ห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีอยู่
5.
แผนปฏิบัติการสหประชาชาติเกี่ยวกับปัญหาอาวุธเล็กและอาวุธเบา (United Nations Programme of Action on Small Arms and Light Weapons: UN PoA)
5.1
อาวุธเล็ก (small arms) คือ อาวุธที่ออกแบบเพื่อการใช้งานได้โดยบุคคลเดียว เช่น ปืนพกลูกโม่และปืนพกแบบกึ่งอัตโนมัติ (revolvers and self-loading pistols) ปืนยาวและปืนสั้น (rifles and carbines) ปืนกลมือ (sub-machine guns) ปืนยาวจู่โจม (assault rifles) ปืนกลเบา (light machine guns) เป็นต้
อาวุธเบา (light weapons) คือ อาวุธที่สามารถใช้งานได้โดยบุคคล 2 หรือ 3 คน ช่วยกัน แม้ว่าอาวุธบางชนิดอาจสามารถถือและใช้งานได้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียว เช่น ปืนกลหนัก (heavy machine guns) เครื่องยิงระเบิดมือแบบติดตั้งและพกพาด้วยมือ (hand-held under-barrel and mounted grenade launchers)
ปืนต่อต้านอากาศยานแบบพกพาได้ (portable anti-aircraft guns) ปืนต่อต้านยานเกราะแบบพกพาได้ (portable anti-tank guns) ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (recoilless rifles) เครื่องปล่อยระบบขีปนาวุธและจรวดต่อต้าน
ยานเกราะแบบพกพาได้ (portable launchers of anti-tank missile and rocket systems) เครื่องปล่อยระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบพกพาได้ (portable launchers of anti-aircraft missile systems) และปืนครก
ที่เส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้องเล็กกว่า 75 หรือ 100 มิลลิเมตร (mortars of calibres less than 75 or 100 mm) เป็นต้น
5.2
ในภาพรวม อาวุธเล็กและอาวุธเบาเป็นอาวุธที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางมนุษยธรรม ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือพิการมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นชนิดอาวุธที่ถูกใช้งานแพร่หลายที่สุดในการก่ออาชญากรรมในทุกระดับ เนื่องจากเป็นอาวุธที่มีขนาดเล็ก สามารถพกพาหรือเคลื่อนย้ายได้ง่าย ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมักเปรียบเปรยว่าอาวุธเล็กและเบาเป็น “อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” ที่แท้จริง (มีนัยถึงอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี หรือ
อาวุธชีวภาพ ที่ถูกจัดให้อยู่ภายใต้หมวดอาวุธที่มีอาณุภาพทำลายล้างสูง)
5.3
กลไกและกรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศที่สำคัญในเรื่องอาวุธเล็กและเบามีที่มาจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 54 เมื่อปี 2542 ซึ่งได้รับรองข้อมติที่ 54/54V (ค.ศ. 1999) ให้มีการจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาอย่างผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ (United Nations Conference on the Illicit Trade in Small Arms and Light Weapons in All Its Aspects) ในปี 2544
โดยในการประชุมฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-20 ก.ค. 2544 ที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการสหประชาชาติเพื่อป้องกัน ต่อสู้ และกำจัดการค้าอาวุธเล็กและอาวุธเบาอย่างผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ (UN Programme of Action to Prevent, Combat and Eradicate the Illicit Trade in Small Arms and Light Weapons in All Its Aspects: UN PoA) ซึ่งแม้จะมิใช่เอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มี
ผลผูกพันทางการเมือง (politically binding) ต่อรัฐสมาชิกในการดำเนินมาตรการหรือบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการใช้อาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบา และได้กำหนดให้จัดการประชุม
รัฐสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินการตาม PoA ทุก 2 ปี (Biennial Meeting of States: BMS) และการประชุมทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินการตาม UN PoA (Review Conference) ในระยะ 5 ปี (ครั้งแรกเมื่อปี 2549)
5.4
ไทยสนับสนุนความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการควบคุมการแพร่กระจายของอาวุธเล็กและอาวุธเบาและการลักลอบถ่ายโอนอาวุธดังกล่าวอย่างผิดกฎหมายภายใต้กรอบ UN PoA โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะผู้ประสานงานหลักได้ตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอาวุธเล็กและอาวุธเบาเพื่อเป็นกลไกหลักในการปฏิบัติตาม UN PoA นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายและศักยภาพของไทย โดยรายงานการดำเนินงาน (National Report) ต่อสหประชาชาติอย่างต่อเนื่องด้วย