วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 พ.ค. 2567

| 2,279 view

อนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

อนุสัญญาหลักที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือ อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ หรือพิธีสารปาเลอโม (The Palermo Protocol, a supplement to the United Nations Convention against Transnational Organized Crime) ที่กำหนดให้รัฐมุ่งต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบอย่างจริงจัง นอกจากนี้ กลไกระหว่างประเทศด้านการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน ยังมีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มุ่งคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่หลากหลาย ประกอบด้วย

(1) เหยื่อการค้ามนุษย์ทีเ่ป็นสตรี : อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women)

(2) เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็ก : อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)

(3) เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวต่างชาติรวมถึงผู้ลี้ภัย : อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (Convention relating to the Status of Refugees) และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานย้ายถิ่นและสมาชิกในครอบครัว (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Members of their Families)

(4) เหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นแรงงานบังคับ : อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 28 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 (The ILO Forced Labour Convention) และฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ ค.ศ. 1957 (The ILO Abolition of Forced Labour Convention)

 

องค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration :IOM) มีหน้าที่สนับสนุน ให้บริการและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย และส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ สุขภาพ การปรับตัว ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัย ผู้ถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน และบุคคลไร้รัฐ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พลัดถิ่น ทั้งในด้านการให้สถานะผู้ลี้ภัย การเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ หรือการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

 

ความแตกต่างระหว่าง Asylum seeker และ Refugee

Refugee หรือ ผู้ลี้ภัย หมายถึงคนที่เดินทางออกจากประเทศของตน เนื่องจากสงคราม ความรุนแรง การประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง ส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้ เพราะหวาดหวั่นต่อภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น

Asylum seeker คือ ผู้แสวงหาที่พักพิง ที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

 

ไทยกับการให้ความช่วยเหลือและส่งผู้หนีภัยสู้รบกลับประเทศ 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 รัฐบาลไทยได้ให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) ที่หนีข้ามพรมแดนมาฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก โดยอนุญาตให้พำนักชั่วคราวในพื้นที่ที่จัดให้ใน จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรีและ จ.ราชบุรี เพื่อรอเวลาเดินทางกลับประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยร่วมกับประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ องค์การระหว่างประเทศ และองค์การภาคประชาสังคม ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น อาหาร การศึกษา การรักษาพยาบาล การฝึกวิชาชีพ แก่ ผภร. เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเมื่อมีความพร้อม ช่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตต่อในเมียนมาหรือในประเทศที่สามได้อย่างยั่งยืน 

การดำเนินการของไทยในการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการให้ที่พักพิงและความช่วยเหลือด้านต่างๆ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับมาตุภูมิ นอกจากจะเป็นการให้ความช่วยเหลือในฐานะประเทศเพื่อนบ้านแล้ว  ยังช่วยสร้างสันติภาพในภูมิภาค ลดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เสริมสร้างความมั่นคงบริเวณชายแดน และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคอีกด้วย 

 

 links เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม:

กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ส่วนกิจการชายแดนและผู้อพยพ 

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองความมั่นคงภายในประเทศ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNHCR)