วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ต.ค. 2567

| 39,475 view

ไทยกับสหประชาติ

  • ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหประชาชาติ
    • ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2489 (ค.ศ. 1946)
    • นับเป็นลำดับที่ 55
    • ไทยมีส่วนร่วมในภารกิจของสหประชาชาติอย่างต่อเนื่องและแข็งขันทั้งในด้านสันติภาพ ด้านการพัฒนาและด้านสิทธิมนุษยชน
  • สำนักงานสหประชาชาติในประเทศไทย ไทยเป็นประเทศเจ้าบ้าน (Host Country) ของหน่วยงานสหประชาชาติ เช่น 
    • สำนักงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ตั้งอยู่ที่ กรุงเทพฯ
    • หัวหน้าสำนักงานดำรงตำแหน่งเลขาธิการบริหาร (Executive Secretary) และผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ (Under-Secretary-General) ปัจจุบันได้แก่ นาง Armida Salsiah Alisjahbana (สัญชาติ อินโดนิเซีย) ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ. 2561 (click ดูประวัติโดยสรุป) 
    • armida-salsiah-alisjahbana_0 
    •  
    • ไทยเป็นที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินการภายใต้กรอบของสหประชาชาติ และองค์การอื่นๆมากกว่า 30 สำนักงาน เช่น FAO ICAO UNAIDS UNDP UNESCO UNHCR UNICEF UNODC ฯลฯ โดยมี UN Country Team เป็นหน่วยประสานงาน ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยที่ดูแลกำกับ UN Country Team หรือ UN Resident Coordinator (UNRC) ได้แก่ นางสาว Michaela Friberg-Storey (สัญชาติ สวีเดน)
    •    micaela  
    • UN Country Team หรือทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศ เป็นหน่วยงานที่ UN ตั้งขึ้นเพื่อให้การทำงานของ UN สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของประเทศเจ้าบ้านที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการทำงานส่วนใหญ่ของ UN Country Team ประเทศต่างๆ จะอยู่ภายใต้กรอบความช่วยเหลือการพัฒนา (United Nations Development Assistance Framework : UNDAF)  หรือ กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนกับสหประชาชาติ (United Nations Partnership Framework : UNPAF) ตามระดับรายได้ของประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าว  การทำงานของ UN Country Team กับไทย จัดว่าอยู่ในกรอบ UNPAF เนื่องจากไทยได้รับการตัดเป็นประเทศที่ UN จัดว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income country) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยมีกรอบความร่วมมือลักษณะเป็นหุ้นส่วนกับ UN มาแล้ว 3 ฉบับ 
  • "เจนีวาแห่งเอเชีย" : ไทยเป็นประเทศขนาดกลางที่มีความเป็นกลาง จึงได้รับเกียรติให้เป็นที่ตั้งองค์การต่างๆ ของ UN และทบวงชำนัญพิเศษของ UN และองค์การระหว่างประเทศที่มิใช่ UN ซึ่งการที่ไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศและการจูงใจให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย เป็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ และเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ  กระทรวงการต่างประเทศจึงอำนวยความสะดวกให้การจัดตั้งสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศและการจัดการประชุมต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหลักการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามความจำเป็นแก่ภาระหน้าที่ของแต่ละองค์การระหว่างประเทศ
  • การเลือกตั้งในกรอบสหประชาชาติ
    • สหประชาชาติมีองค์กรและคณะกรรมการต่างๆ เป็นกลไกในการดำเนินงานในแต่ละด้าน ซึ่งองค์กรและคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกประเทศต่างๆ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่โดยผ่านการเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด สมาชิกเหล่านี้แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) สมาชิกที่เป็นประเทศ  และ (2) สมาชิกที่เป็นบุคคล  
    • การหาเสียง :รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยและคนไทยได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ของสหประชาชาติ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานหลัก (focal point) หารือร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รณรงค์หาเสียงกับประเทศต่างๆ ในกรณีที่ไทยลงสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ ผ่านคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ และสถานเอกอัครราชทูตต่างชาติในประเทศไทย รวมทั้ง เสนอให้มีการหยิบยกประเด็นการขอเสียง/แลกเสียงสนับสนุนในโอกาสที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศต่างๆ เดินทางเยือนประเทศไทยและได้หารือกัน หรือในการหารือทวิภาคีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยที่เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ หรือเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ 
    • การแลกเสียง: ประเทศที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในกรอบต่างๆ มักจะดำเนินการรณรงค์หาเสียงเพื่อขอรับการสนับนุนจากประเทศสมาชิกขององค์กรที่ประเทศนั้นๆ สมัคร โดยขอเสียงสนับสนุนได้หลายวิธี เช่น การขอรับการสนับสนุนผ่านช่องทางการทูต และการขอแลกเสียงระหว่างการสมัครรับเลือกตั้งระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามธรรมเนียมและแนวปฏิบัติของการสมัครรับเลือกตั้งในองค์การระหว่างประเทศ สามารถแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนในการลงสมัครในกรอบการประชุม/องค์กร/กลไกเดียวกันก็ได้ หรือข้ามกรอบการประชุม/องค์กร/กลไกก็ได้ 
    • ภาวะแข่งขัน : หมายถึงกรณีที่มีผู้สมัครหลายคน/หลายประเทศต้องการลงสมัครในตำแหน่งเดียวกันในกรอบการประชุม/องค์กร/กลไกเดียวกัน ซึ่งภาวะแข่งขันมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติและการประนีประนอมกันภายในกลุ่มประเทศสมาชิกผู้ลงสมัครและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยในบางกรณี การประนีประนอมอาจนำไปสู่การถอนตัวของผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง เพื่อให้เกียรติผู้สมัครคน/ประเทศอื่นได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น และผู้ที่ถอนตัวอาจไปลงสมัครในวาระอื่นในกรอบการประชุม/องค์กร/กลไกเดียวกัน เป็นต้น 
  • บทบาทของคนไทยในสหประชาชาติ ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน มีมากมาย เช่น
 
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 11 เมื่อปีค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) และ
ประธานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Conference on the Law of the Sea : UNCLOS) ครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501)
 
 
ดร. ถนัด คอมันตร์
ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ  เมื่อปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500)
 
 
พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา และ หม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี
ประธานการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
วาระเดือน  พฤษภาคม ค.ศ.1985 (พ.ศ. 2528)
 
 
หม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี
ประธานการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
วาระเดือน กรกฎาคม ค.ศ.1986 (พ.ศ. 2529)
 
นายอานันท์ ปันยารชุน
ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงด้านภัยคุกคาม ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง (High Level Panel on Threats, Challenges and Change) วาระปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546)
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and  Development - UNCTAD) วาระปี ค.ศ. 2005-2009 (พ.ศ. 2548-2552) , 2008-2012 (พ.ศ. 2553 - 2557)
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา 
ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 21 (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPCJ)  ธันวาคม ค.ศ. 2011 - ธันวาคม ค.ศ. 2012  (พ.ศ. 2554-2555) 
 
นายสรรพสิทธิ์ คุ้มประพันธ์
สมาชิก Committee on the Right of the Child (CRC)
วาระปี ค.ศ. 2009-2012 (พ.ศ. 2552 - 2555)
 
 
น.พ. สำลี เปลี่ยนบางช้าง
ผู้อำนวยการ World Health Organization Regional Director for South East Asia (WHO/SEARO)
วาระปี  ค.ศ. 2004-2009 (พ.ศ. 2547 - 2552) ค.ศ. 2009-2014 (พ.ศ. 2552 - 2557)
 
ดร. อมรา พงศาพิชญ์
ดำรงตำแหน่งในสถาบันวิจัยและฝึกอบรมระหว่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (International Research and Training Institute for the Advancement of Women - INSTRAW) ปี ค.ศ. 1990 - 1995 (พ.ศ. 2533-2538)
 
ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตราภรณ์
(1) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (United Nations Special Rapporteur on the Situation of Human Rights in the Democratic People's Republic of Korea) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2001-2010 (พ.ศ.2547-2553)
(2) ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านกระบวนการพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Chairperson of the Coordinating Committee of the United Nations Special Procedures) ของสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2005-2007 (พ.ศ. 2548 - 2550)
(3) ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Chair of the International Commission of Inquiry on the Ivory Coast) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554)
(4) กรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาของกองทุนเพื่อความมั่นคงแห่งมนุษย์ (Member of the Advisory Board on Human Security) ของกองทุนเพื่อความมั่นคงแห่งมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Trust Fund for Human Security) ค.ศ. 2011 - 2015 (พ.ศ. 2554-2558)
(5) กรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศซีเรีย (Commissioner on the Independent International Commission of Inquiry on Syria) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 2012-2016 (พ.ศ. 2555-2559)
(6) ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศกัมพูชา (United Nations Special Rapporteur on the Situation of Human Rights in Cambodia) เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
 
 
 
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว
ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) 
วาระปี ค.ศ. 2010-2011 (พ.ศ. 2554 - 2555)
 
 
ดร. โสมสุดา ลียะวนิช
สมาชิก World Heritage Committee (WHC)
วาระปี ค.ศ. 2009-2013 (พ.ศ. 2552-2556)
 
 
นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่
สมาชิกคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board – INCB)
วาระปี ค.ศ. 2010-2015 (พ.ศ. 2553 - 2558) และ
ประธานและสมาชิกคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board - INCB)
วาระปี ค.ศ. 2015 - 2020 (พ.ศ. 2558- 2563)
 
 
ดร. เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี
สมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission -ILC) วาระปี ค.ศ. 2013-2016 (พ.ศ. 2556 - 2559) และ
ผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea - ITLOS) วาระปี ค.ศ. 2017-2026 (พ.ศ. 2560 - 2568)
 
ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล
สมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ILC) วาระปี ค.ศ. 2023-2027 (พ.ศ. 2566-2570)
 
 
นายมณเฑียร บุญตัน
สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ
(Committee on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)
วาระปี ค.ศ. 2013 - 2016 (พ.ศ. 2556 - 2559) และวาระปี ค.ศ. 2017 -2020 (พ.ศ. 2560 -2563)
 
นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย
สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Committee on the Rights of the Persons with Disabilities -CRPD) วาระปี ค.ศ. 2021-2024 (พ.ศ. 2564-2567) 
 
ดร. เสรี นนทสูติ 
สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Commitee on Economic, Social and Cultural Rights - CESCR) วาระปี ค.ศ. 2021 -  2028 (พ.ศ. 2564 - 2571) ซึ่งเป็น 2 วาระต่อเนื่อง (วาระละ 4 ปี)
 
ศ.ดร. พญ. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย  
สมาชิกคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board - INCB) วาระปี ค.ศ. 2025-2030 (พ.ศ. 2568 - 2573)