วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ต.ค. 2566

| 1,192 view

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

ชื่อเต็ม องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) เป็นหนึ่งในทบวงชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ 

วัตถุประสงค์ สร้างสันติภาพของโลกด้วยการสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษยชาติผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม

วันก่อตั้ง 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489)

ประเทศสมาชิก 193 ประเทศ

ที่ตั้งสำนักงานใหญ่  กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส 

 

คณะกรรมการมรดกโลก

ชื่อเต็ม คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Commitee : WHC) 

วัตถุประสงค์ ทำหน้าที่การพิจารณาอนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ปรับลดสถานะมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนแล้วให้เป็นแหล่งในภาวะอันตราย และ/หรือถอดถอนสถานะมรดกโลกที่เสื่อมโทรมหรือได้รับความเสียหายรุนแรง บริหารจัดการกองทุนมรดกโลก (World Heritage Fund) รวมถึงอนุมัติเงินสนับสนุนตามคำขอของรัฐภาคี 

ประเทศสมาชิก 21 ประเทศ โดยแต่ละประเทศที่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และรัฐภาคีที่เป็นสมาชิกจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมของทุกปี 

หลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก ประกอบด้วย

หลักเกณฑ์ 6 ข้อสำหรับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม  มีสาระสำคัญ คือ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจะต้องเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมวิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต หรือเป็นตัวแทนของผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ด้วยความชาญฉลาดของมนุษย์ สร้างอิทธิพลและแรงบันดาลใจในการออกแบบ สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมในยุคต่อมา เป็นต้น หรือเป็นสิ่งยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันที่สาบสูญไปแล้ว 

หลักเกณฑ์ 4 ข้อ สำหรับแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ มีสาระสำคัญ คือ แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติจะต้องเป็นตัวอย่างอันเด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่างๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก หรือเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา หรือเป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายาก หรือสวยงามเป็นพิเศษ หรือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย รวมทั้งมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์เป็นต้น 

เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว รัฐภาคีมีพันธกรณีในการดูแลรักษาและทำนุบำรุงแหล่งมรดกโลกให้อยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์และคงสภาพเดิมมากที่สุด รวมทั้งมีกำหนดและทบทวนมาตรการในการดูแลและบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกในมิติต่างๆ อย่างรัดกุมและเหมาะสม ตลอดจนไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการสร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแหล่งมรดกโลก โดยหากรัฐภาคีไม่สามารถดูแลแหล่งมรดกโลกให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบทางลบต่อแหล่งมรดกโลก คณะกรรมการมรดกโลก มีอำนาจในการตรวจสอบ ติดตามและพิจารณาปรับสถานะของแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย (List of World Heritage in Danger) หรือเพิกถอนสถานะการเป็นแหล่งมรดกโลก