วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,872 view

การดื้อยาต้านจุลชีพ (Anti-microbial Resistance – AMR)

  • จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ประสบกับปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาแบคทีเรียดื้อยาสูง โดยมีอัตราการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเพิ่มขึ้นและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นทั้งในและนอกโรงพยาบาล และสามารถแพร่กระจายได้ในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
  • ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ และแสดงเจตนารมณ์และความรับผิดชอบต่อประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยไทยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (Global Action Plan on AMR) ที่ขอให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศมีแผนดำเนินการระดับประเทศ (National Action Plan on AMR) ซึ่งในส่วนของไทย คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔
  • เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าร่วม การประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High-Level Meeting on Antimicrobial Resisitance) ที่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ และจีน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่ม ๗๗ และจีน สนับสนุนการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health approach) เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อผ่านการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการวิจัยและการพัฒนายาต้านจุลชีพ สร้างหลักประกันให้ราคายาไม่สูงเกินไปและสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งที่มีอยู่และแบบใหม่ พร้อมนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อมูลในส่วนของไทยว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ที่ส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลและการเข้าถึงยาต้านจุลชีพที่จำเป็นผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง: