15,774 view

ความมั่นคงมนุษย์

ความมั่นคงมนุษย์ (Human Security) หมายถึงการที่ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน โดยจะต้องปลอดจากความกลัว ปลอดจากความขาดแคลนหรือต้องการ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรี

เครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ 

ไทยเห็นว่า ประเด็นความมั่นคงของมนุษย์สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยในหลายๆ ด้าน อาทิ การเป็นประเทศพัฒนาขนาดกลางที่มีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และการมีรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ไทยจึงได้เข้าเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งเครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network :HSN) และได้มีบทบาทที่แข็งขัน ดังนี้ 

- ไทยได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน HSN ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยผลักดันให้เกิดความมั่นคงมนุษย์ที่นำไปสู่ Freedom from want, freedom from fear and freedom to live in dignity โดยไทยให้ความสำคัญกับ freedom from want เป็นหลัก

- ไทยได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน HSN ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2558-2559 โดยชูบทบาทสร้างสรรค์ของไทยและผลักดันประเด็นสำคัญได้แก่ (1) ประเด็นสำคัญในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์ (2) การป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (3) สาธารณสุข (4) หลักนิติธรรม และ (5) การพัฒนาอย่างมีองค์รวม

- ไทยได้จัดการสัมมนาในประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และกลุ่ม HSN เมื่อปี พ.ศ. 2559 ในหัวข้อ "Asia-Pacific Regional Human Security Conference: Implementing a Human Security Approach to Realize the Sustainable Development Goals" เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบทเรียนที่ได้รับจากการนำแนวทางความมั่นคงของมนุษย์มาใช้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ ในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ 

นโยบายการทูตสาธารณสุข

ไทยตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นการทูตเพื่อสาธารณสุข (Health Diplomacy) ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศ เพื่อตอบสนองต่อกระแสของโลกปัจจุบันที่ประเด็นสาธารณสุขไม่ได้เป็นเพียงประเด็นภายในประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป การป้องกันและการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลักดันนโยบายสาธารณสุขให้เป็นนโยบายระดับระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สามารถใช้ประเด็นสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นประเด็นที่ไทยสามารถมีบทบาทสร้างสรรค์ในเวทีระหว่าปงระเทศได้ และในทางกลับกันก็สามารถใช้การต่างประเทศเป็นเครื่องมือเสริมสร้างและยกระดับการสาธารณสุขของไทยได้

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กำหนดว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) หมายถึงระบบบริการสาธารณสุขที่จัดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา หรือการฟื้นฟูสุขภาพ โดยบริการทางสาธารณสุขเหล่านี้จะต้องมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและไม่ก่อภาระทางการเงินเกินสมควรแก่ผู้ใช้บริการ โดยที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ทำการรับรองว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเป้าหมาย 3.8 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยให้ความสำคัญกับสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน และปัจจุบัน ไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุม ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน 

ในเวทีระหว่างประเทศ ไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไทยได้ผลักดันประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในเรื่องนี้ อีกทั้งเพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคี และระดับพหุภาคี 

ไทยได้เข้ากลุ่ม Foreign Policy and Global Health (FPGH) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกได้แก่ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ อินโดนิเซีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นการทูตเพื่อสาธารณสุข และร่วมกันผลักดันให้ประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระระดับโลก

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

https://www.ihppthaigov.net/publication