วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 พ.ค. 2567

| 3,809 view

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกยูเนสโก หรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) เป็นสมาชิกลำดับที่ 48

ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาทางวัฒนธรรมภายใต้ยูเนสโก 3 ฉบับได้แก่

(1) อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีความขัดแย้งทางอาวุธ (Convention for the Protection of Cultural Property in the Event of Armed Conflict หรือ Hague Convention 1954)

(2) อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage หรือ 1972 Convention)

(3) อนุสัญญาเพื่อการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of th Intangible Cultural Heritage หรือ 2003 Convention)

ประเทศไทยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร (Executive Board - EB) ของยูเนสโก ล่าสุดในวาระปี พ.ศ. 2562 - 2566

 

การยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญ/เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505-2562 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญ / เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย 4 รายการได้แก่

(1) วันครบรอบ 150 ปี ชาตกาลของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (พ.ศ. 2563)

(2) วันครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พ.ศ. 2564)

(3) วันครบรอบ 200 ปี ชาตกาลของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) (พ.ศ. 2565)

(4) วันครบรอบ 100 ปี วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (พ.ศ. 2566) 

 

หน่วยงานไทยที่รับผิดชอบความร่วมมือกับยูเนสโก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ

กฎบัตรของยูเนสโกกำหนดให้รัฐสมาชิกมีหน่วยงานประสานงานกับองค์การในฐานะตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานสำคัญต่างๆ ของประเทศ เพื่อดำเนินกิจกรรมที่อยู่ในขอบข่ายของยูเนสโก ทั้ง 5 สาขา คือ การศึกษา วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

ในส่วนของไทยคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) และจัดตั้งหน่วยงานเพื่อประสานงานเกี่ยวกับยูเนสโก คือ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Secretariat for the Thai National Commission for UNESCO) คณะกรรมการแห่งชาติฯ นี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ได้รับมอบหมาย) เป็นเลขาธิการ

 

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  (Intangible Cultural Heritage - ICH)

 อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  ค.ศ. 2003  (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage 2003) ได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัยสามัญ (General Conference) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2546 อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกถึงความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage - ICH) ของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการเสริมสร้างการให้ความเคารพ และการตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา โดยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และ/หรือ งานฝีมือ

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559  ซึ่งไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชี RL ภายใต้อนุสัญญาฯ แล้ว 4 รายการ ได้แก่

1. โขน  / Khon, masked dance drama in Thailand (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ.  2561)

2. นวดไทย / Nuad Thai, traditional Thai massage (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2562)

3. โนรา / Nora, Dance Drama in Southern Thailand (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2564 ) 

4. สงกรานต์ / Songkran in Thailand  (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2566)