คำกล่าวโดยนางสาวอัจฉรา เสริบุตร อุปนายกสมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย
สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 ในหัวข้อ “เยาวชนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 09.00 – 13.15 น.
ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (United Nations Conference Centre: UNCC) กรุงเทพฯ
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
คุณกีต้า สับระวัล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ
คุณเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
คณาจารย์ และเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานครทุกคน
1. สมาคมแห่งสหประชาชาติแห่งประเทศไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 ในหัวข้อ “เยาวชนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
2. สมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย หรือ United Nations Association of Thailand (UNAT) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2496 (คริสต์ศักราช 1953) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนของนานาประเทศ เผยแพร่อุดมคติและหลักการของสหประชาชาติ รวมทั้ง การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชนไทยในวงกว้างเกี่ยวกับความสำคัญของการทูตพหุภาคี และบทบาทที่เข้มแข็ง สร้างสรรค์ และมีความต่อเนื่องของไทยในเวทีสหประชาชาติ
3. ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเป็นลำดับที่ 55 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2489 และครบรอบ 75 ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อปี 2564 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติมาโดยตลอด
4. ตลอดมาสมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทยสนับสนุนภารกิจตามสามเสาหลักของสหประชาชาติ ได้แก่ ด้านสันติภาพและความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการด้านบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านการทำงานหลายด้าน ได้แก่ การเสวนาทางวิชาการ และโครงการสมาคมสหประชาชาติสัญจร ร่วมกับสถาบันการศึกษา เครือข่ายสังคมออนไลน์ และสถานีวิทยุสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนทุกภาคส่วนรับรู้ว่าสหประชาชาติเป็นเรื่องรอบตัวสำหรับทุกคน
5. สมาคมฯ ของเราให้ความสำคัญและผลักดันการมีส่วนร่วมของเยาวชนในทุกระดับต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมอง การเสนอแนะนโยบาย และการมีบทบาทของเยาวชนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน
6. การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องห่างไกล แต่การที่พวกเราทุกคนต้องการมีสังคมที่ดีและยั่งยืนได้นั้น ต้องเริ่ม
จากการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ โดยทุกคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของทั้ง 17 เป้าหมายหลักไม่มากก็น้อย
7. การจัดงานในครั้งนี้ ดิฉันรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นเยาวชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่จะได้เพิ่มความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการฟังบรรยายและการทำกิจกรรมในบูธต่างๆ เพราะเยาวชนทุกคนเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า หากได้รับการบ่มเพาะที่ดี ก็จะนำไปสู่สังคมที่น่าอยู่ สร้างสรรค์ และยั่งยืน
8. นอกจากนั้น ดิฉันขอให้เด็กๆ และเยาวชนทุกคนพึงระลึกไว้เสมอว่า พวกเราเยาวชนทุกคนมีพลังและมีส่วนเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ การปรับพฤติกรรมและการกระทำของทั้งตนเองและคนรอบข้าง เริ่มตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน โรงเรียน สังคม และประเทศชาติ
9. สุดท้ายนี้ ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณาจารย์และเยาวชนทุกคนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟังปาฐกถาโดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การฉายวีดิทัศน์ การบรรยายโดยผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และสนุกสนานกับกิจกรรมในบูธต่างๆ ในวันนี้
ขอบคุณค่ะ