27,484 view

ความตกลงปารีส: ก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

     ปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งดูจะทวีความรุนแรง และปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เป็นปัญหาที่น่ากังวลและถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของโลกขณะนี้ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาคมโลกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากอดีต และได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาที่มีการจัดตั้งกลไกหลักภายใต้กรอบสหประชาชาติขึ้น 2 กลไก คือ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) ค.ศ. 1992 และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol – KP) ค.ศ. 1997 ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ของทั้งสองกลไกนี้ด้วย
     แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกลไกดังกล่าวขึ้นเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แต่ด้วยสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ จำเป็นต้องเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ จนในที่สุดสามารถตกลงกันได้ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนเกิดเป็น ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
      (1) ประเทศต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ย ของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และในขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หากสามารถกระทำได้ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะยึดหลักความเป็นธรรม (equity) และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาด้วย โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศตามสภาวการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน (common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances)
      (2) ความตกลงฯ ครอบคลุมการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ อาทิ (1) การลดก๊าซเรือนกระจก (2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) ความโปร่งใสของการดำเนินการ และ (5) การให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยรัฐภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการที่เรียกว่า nationally determined contribution (NDC) ของประเทศทุก ๆ 5 ปี
     ความตกลงปารีสถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ซึ่งภายหลังจากการประชุมกันที่กรุงปารีสข้างต้น ประเทศต่าง ๆ ได้มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ในพิธีลงนามความตกลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยได้ร่วมลงนามกับประเทศต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 180 ประเทศด้วย และต่อมา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยให้กับนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติแล้วระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม High-level Event on the Ratification of the Paris Agreement ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ
      เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ได้มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสแล้วมากกว่า 55 ประเทศ และคิดเป็นระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเกินกว่าร้อยละ 55 ของโลก อันเป็นเงื่อนไขสองประการที่ความตกลงกำหนด ส่งผลให้ความตกลงปารีสมีผลใช้บังคับภายในสามสิบวัน คือ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 (สามารถตรวจสอบสถานะปัจจุบันของประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสได้ที่ http://unfccc.int/paris_agreement/items/9485.php ) นับจากนี้ ประเทศต่าง ๆ จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามความตกลงได้ ในส่วนของไทย รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านการดำเนินการในสาขาต่าง ๆ อาทิ พลังงาน ขนส่ง และป่าไม้ ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาและคนไทยทุกคนร่วมมือกัน ก็เชื่อว่าการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายคงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม
 
world_clean_air_day