วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 เม.ย. 2567

| 89,499 view

มี 5 องค์กร ได้แก่

1. สมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly - UNGA): ที่ประชุมของประเทศสมาชิกทั้งหมด เพื่อปรึกษาหารือและตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาระดับโลกร่วมกัน โดยฉันทามติหรือการลงคะแนนเสียง ซึ่งการประชุมสมัยสามัญมักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคมทุกปี

หน้าที่ของสมัชชาสหประชาชาติ

1.1 อภิปรายปัญหาเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน

1.2 ศึกษาและจัดทำคำแนะนำเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการเมือง กฎหมายระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและอนามัย

1.3 พิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณขององค์การและกำหนดส่วนเฉลี่ยค่าบำรุงของสมาชิก

1.4 เลือกตั้งสมาชิกองค์กรหลักอื่นๆ องค์กรย่อย โครงการหรือกองทุนของสหประชาชาติ

 

ข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ (Resolution): 

เป็นเอกสารคำแนะนำแก่ประเทศสมาชิก มิใช่การบังคับทางกฎหมาย แต่ก็มีน้ำหนักทางการเมือง เพราะถือเป็นความเห็นโดยทั่วไปของประเทศส่วนใหญ่ในโลก หรือประชาคมระหว่างประเทศที่สมัชชาเป็นตัวแทน

การลงมติในสมัชชาสหประชาชาติ

วิธีการออกเสียงลงคะเเนน

ก.แบบชูมือ: นิยมใช้ในการประชุมของคณะกรรมการใหญ่ในเรื่องที่ไม่ยุ่งยากนัก หรือในห้องประชุมที่ไม่มีอุปกรณ์กดลงคะแนนเสียง การออกเสียงแบบนี้ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน

ข.แบบ Record Vote: คณะผู้แทนกดปุ่มออกเสียง และ เจ้าหน้าที่บันทึกไว้เป็น หลักฐาน โดยมีปุ่ม 3 ปุ่ม ได้แก่ ปุ่มสีเขียว (เห็นด้วย) ปุ่มสีเหลือง (งดออกเสียง) และปุ่มสีแดง (ไม่เห็นด้วย)

ค.แบบเรียกชื่อ (Roll call vote): จะมีการจับฉลากชื่อประเทศเพื่อเป็นประเทศแรกใน การกล่าวออกเสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง จากนั้นจะเป็นประเทศต่อไปตาม ลำดับตัวอักษร ผู้แทนประเทศที่กล่าวออกเสียงจะต้องกดปุ่มออกเสียงไปด้วย

ง.แบบลับ (Secret Ballot): ปกติใช้ในการออกสียงลงคะเเนนเลือกตั้งสำคัญต่างๆ ซึ่งใช้หลักการออกเสียง 2 ใน 3 (Two-thirds Majority)

* การลงคะเเนนเสียง โดยปกติใช้หลักเสียงข้างมากธรรมดา (Simple Majority) ของสมาชิก ซึ่งเข้าประชุมออกเสียง เว้นแต่ปัญหาสำคัญตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับข้อ 85 ของสมัชชาฯ

** สมาชิกอาจอธิบายท่าทีของตน หรือมีข้อสงวนใดๆ ก่อนลงมติหรือหลังลงมติได้

การผ่านข้อมติโดยไม่ออกเสียงหรือฉันทามติ (Consensus) เกิดขึ้นในกรณีที่ร่างข้อมติไม่มีปัญหาขัดแย้งระหว่างสมาชิก

 

คณะกรรมการหลักภายใต้สมัชชาสหประชาชาติ

- การประชุมเต็มคณะ (Plenary)

- คณะกรรมการ 1 (การลดอาวุธ และความมั่นคง)

- คณะกรรมการ 2 (เศรษฐกิจ การคลัง และสิ่งแวดล้อม)

- คณะกรรมการ 3 (สังคม มนุษยธรรม และวัฒนธรรม)

- คณะกรรมการ 4 (การเมืองพิเศษ และการปลดปล่อยอาณานิคม)

- คณะกรรมการ 5 (การบริหารและงบประมาณ)

- คณะกรรมการ 6 (กฎหมาย)

 

2. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council - UNSC): มีหน้าที่ดำเนินการกับปัญหาเรื่องสงครามและสันติภาพของโลก 

2.1 สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ: 15 ประเทศ ประกอบด้วย

สมาชิกถาวร (Permanent Members) 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถใช้ "สิทธิยับยั้ง" (Veto) การตัดสินใจต่างๆ ทั้งนี้ หากสมาชิกถาวรอย่างน้อย 1 ประเทศ คัดค้านข้อมติหรือข้อตัดสินใจใด ข้อมติหรือข้อตัดสินใจนั้นก็จะไม่ได้รับการรับรองหรือดำเนินการต่อ ยกเว้นว่าเป็นกรณีคำวินิจฉัยเรื่องวิธีการดำเนินการ (procedural matters) ซึ่งต้องการเสียงความเห็นชอบจากสมาชิกประเภทใดก็ได้จำนวนอย่างน้อย 9 ประเทศ 

สมาชิกไม่ถาวร (Non-Permanent Members) 

การจัดสรรโควต้าของแต่ละภูมิภาค: แอฟริกา (3 ที่นั่ง) / เอเชีย (2 ที่นั่ง) / ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (2 ที่นั่ง)/ ยุโรปตะวันตก (2 ที่นั่ง) / ยุโรปตะวันออก (1 ที่นั่ง) ซึ่งจะได้รับเลือกตั้งจากสมัชชาสหประชาชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และไม่มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งซ้ำโดยทันที ทั้งนี้ ไทยเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC มาแล้ว 1 ครั้ง มีวาระ 2 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1985-1986 (พ.ศ. 2528-2529)

2.2 หน้าที่ของ UNSC

2.2.1 การระงับกรณีพิพาท

2.2.2 การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน

2.2.3. พิจารณาให้คำแนะนำหรือวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการใดเพื่อฟื้นฟูสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ

2.2.4  พิจารณาว่าจะใช้ หรือ ไม่ใช้กำลังในการไปช่วยรักษาสันติภาพ 

2.2.5  พิจารณาการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การห้ามเดินทาง การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต

2.2.6 ขอให้รัฐสมาชิกดำเนินการโดยใช้กำลังทางบก ทางทะเล หรืออากาศ

2.2.7 ส่งข้อขัดแย้งทางกฎหมายระหว่างรัฐคู่กรณีให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) พิจารณา

ทั้งนี้ ตามข้อบทที่ 25 ของกฎบัตรสหประชาชาติ รัฐสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการและผลการตัดสินใจของ UNSC

 

3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council - ECOSOC): ศึกษาและรายงานเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสาธารณสุขระหว่างประเทศ

3.1 สมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม: 54 ประเทศ เลือกโดยสมัชชาสหประชาชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และมีสิทธิ เข้ารับตำแหน่งซ้ำโดยทันที ซึ่งไทยเคยเป็นสมาชิกมาแล้ว 6 ครั้งคือ โดยครั้งล่าสุดคือ วาระ ปี ค.ศ. 2020 - 2022 

3.2 หน้าที่ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม

3.2.1  ปรับปรุงฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสาธารณสุข และให้คำแนะนำ เรื่องดังกล่าวต่อสมัชชาสหประชาชาติ รัฐสมาชิกและทบวงการชำนาญพิเศษที่เกี่ยวข้อง

3.2.2 ให้ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการเคารพเเละปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน

3.2.3 จัดเตรียมร่างอนุสัญญาและเรียกประชุมระหว่างประเทศในเรื่องทั้งหลายที่อยู่ในขอบอำนาจของคณะมนตรี

3.2.4 ทำความตกลงและประสานกิจกรรมกับทบวงการชำนัญพิเศษ

4. สำนักงานเลขาธิการ (Secretariat) (โปรดศึกษาข้อมูลในหัวข้อสำนักงานเลขาธิการของเพจนี้ )

5. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) (เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ โปรดศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ www.mfa.go.th )