วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 พ.ค. 2567

| 11,489 view

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights : UDHR) ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ถือเป็นบรรทัดฐานในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน โดยครอบคลุมสิทธิทุกด้าน ทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเป็นพื้นฐานของกฎหมาย สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับที่ได้รับการจัดทำขึ้นในเวลาต่อมา

 

สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญมีทั้งหมด 9 ฉบับ ประกอบด้วย

(1) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child :CRC) 

(2) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women : CEDAW)

(3) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR)

(4) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights : ICESCR)

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination : ICERD) 

(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) 

(7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD)

(8) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED)

(9) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกครอบครัว (International Convention on the Protection of the Righs of All Migrant Workers and Members of their Families : ICRMW)

ปัจจุบัน ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน 8 ฉบับ ได้แก่ CRC, CEDAW, ICCPR, ICESCR, ICERD, CAT, CRPD และ ICPPED

 

การที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจำนวน 8 ฉบับ ทำให้ไทยมีพันธกรณีในการรายงานการดำเนินการตลอดจนเผยแพร่หลักการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อส่งเสริมภาพลึกษณ์ของไทยในฐานะประเทศที่ส่งเสริม เคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจึงได้ดำเนินการตามพันธกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในที่ผ่านมา ได้จัดทำรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่างๆ ของไทย ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ เป็นต้น  

 

International_day_for_Tolerance_1  

 

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council : HRC) เป็นกลไกของสหประชาชาติที่กำหนดทิศทางและการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 47 ประเทศ ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นวาระ ครั้งละ 3 ปี ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยแบ่งสัดส่วนประเทศสมาชิกในคณะมนตรีเป็นรายภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะมนตรีฯ จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการประจำความตกลงด้านสิทธิมนุษยชนฉบับต่างๆ และกลไกผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (Special Rapporteur) และกลไกอื่นๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลกให้ดียิ่งขึ้น 

 

การจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศ

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศของตน (Universal Periodic Review : UPR)  เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีฯ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศผู้เสนอรายงาน โดยจะให้มีการทบทวนทุก ๆ  4 ปีครั้ง ซึ่งรายงาน UPR นี้ เป็นกลไกเดียวในระบบสหประชาชาติที่กำหนดให้ทุกประเทศต้องได้รับการทบทวน/ตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อยกเว้นและเป็นการทบทวนโดยรัฐด้วยกันเอง ซึ่งไทยได้ผ่านการทบทวน UPR มาแล้ว 3 ครั้ง (สถานะ ณ พ.ศ. 2566) โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดทำรายงานทบทวน UPR โดยมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ร่วมในกระบวนการจัดทำ 

 

การสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน

เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมศักยภาพ (capacity building) ในการดำเนินการตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนของไทย กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และการฝึกอบรม "การจัดทำและเสนอรายงานประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี" สำหรับผู้แทนหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการจัดทำและเสนอรายงานประเทศ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ ตั้งแต่หลักการและประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำรายงาน กระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงาน การพัฒนากลไกการประสานงาน ฯลฯ 

 

ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ไทยมีบทบาทโดดเด่นในการผลักดันการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) และมาตรฐานระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนรวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการขับเคลื่อน UNGPs ของหน่วยงานภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน จะมีอยู่ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) ปกป้อง (protect) (2) เคารพ (respect) (3) เยียวยา (remedy) ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยลดความเสี่ยงที่สามารถส่งผลต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาสในการทำธุรกิจ 

ไทยได้เชิญคณะทำงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของ UN เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นโอกาสในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน โดยไทยได้รับทราบข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan  : NAP) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัตืการระดับชาติฯ ฉบับแรกในภูมิภาคเอเชียที่จัดทำโดยรัฐบาล  

กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมเยาวชนเอเชียเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการประกวดนวัตกรรมเยาวชนในการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในระยะยาว