รอง นรม. และ รมว.กต. เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ (Pandemic Prevention, Preparedness and Response: PPPR) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

รอง นรม. และ รมว.กต. เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ (Pandemic Prevention, Preparedness and Response: PPPR) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ก.ย. 2566

| 322 view

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกัน การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ (Pandemic Prevention, Preparedness and Response: PPPR) ในช่วงสัปดาห์การประชุมระดับสูงของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่  78 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า โรค COVID -19 เป็นหนึ่งใน "วิกฤตที่มีหลากลายมิติ" ที่ร้ายแรงที่สุดในยุคปัจจุบัน และกล่าวถึงแนวทางสำคัญ 3 ประการที่โลกต้องเร่งดำเนินการในลำดับต้นเพื่อยกระดับ PPPR ดังนี้

(1) การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในช่วงเวลาปกติและภาวะฉุกเฉิน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าระบบสุขภาพจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ มีมาตรการคุ้มครองทางสังคม ความยุติธรรมทางสังคม รวมทั้งความเท่าเทียมด้านสุขภาพ

(2) ประชาคมระหว่างประเทศควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขของโลกให้มีความเท่าเทียม ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร และมีความสอดคล้องกับข้อริเริ่มอื่นๆ ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพดิจิทัล การเจรจาตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยการระบาดใหญ่ และการปรับแก้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. 2005 ภายใต้องค์การอนามัยโลก 

(3) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาสำหรับ PPPR ซึ่งจำเป็นต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก ด้วยวิธีการเป็นนวัตกรรม รวมถึงผ่านการแบ่งปันสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับสุขภาพผ่านการดำเนินงานระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่ม COVID -19 Technology Access Pool (C-TAP)

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ ผู้นำประเทศ ผู้แทนระดับรัฐมนตรี ผู้สังเกตการณ์สมัชชาสหประชาชาติและระบบสหประชาชาติ องค์การพัฒนาเอกชน และองค์กรด้านสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนทางการเมืองในงานเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถของโลกในเรื่อง PPPR รวมทั้งการเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยการระบาดใหญ่ของกรอบองค์การอนามัยโลก

การประชุมฯ เป็นเวทีสำหรับประเทศไทยในการยืนยันความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทสในการยกระดับ PPPR ของโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับการปฏฺิญญาทางการเมืองว่าด้วย PPPR ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทสมีความสมานฉันท์และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ